สรุปสาระสำคัญ
ป.วิ.อาญา ส่วนที่ 1
ผู้เสียหาย ( มาตรา
2(4))
ความหมาย
- ตาม ป.วิ.อาญา
มาตรา 2(4) ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญา
ฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 4,5,6 หรือ
ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา หมายถึง กรณีที่มีการกระทำความผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่งเกิดขึ้น
บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดดังกล่าว
และบุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
-
ผู้เสียหายโดยนิตินัย หมายถึง ผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นผู้ใช้
หรือผู้สนับสนุน หรือ รู้เห็นในการกระทำผิด หรือ
ไม่เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมายนั้นด้วย
-
ผู้เสียหายต้องเป็นบุคคล หรือนิติบุคคล เท่านั้น
ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง
ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง
ได้แก่ ผู้ถูกหลอกลวง และเจ้าของทรัพย์ที่ถูกฉ้อโกง (ฎ.4684/28 ป. ) เรื่องนี้
จำเลยหลอกลวงลูกค้า และเอาเงินเฉพาะส่วนที่เกินราคาสินค้าไป
ผู้ที่ถูกหลอกลวงก็คือลูกค้าที่ซื้อสินค้า และเงินส่วนที่เกินก็เป็นของลูกค้า
ลูกค้าจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง
โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของสินค้าแต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าสินค้าที่ลูกค้าจ่ายเกินนั้น
การที่จำเลยในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมรับเงินไว้
จึงไม่ถือว่าเป็นการรับไว้แทนโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
- ผู้ถูกหลอกลวง
เป็นผู้เสียหายฐานฉ้อโกงได้ แม้จะมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ (ฎ.1341/95)
เช่นการหลอกลวงให้ทำนิติกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ผู้ถูกหลอกลวงเป็นผู้เสียหาย
แม้ผู้อื่นจะเป็นผู้ทำนิติกรรมตามที่จำเลยหลอกลวงก็ตาม (ฎ.1931/14)
หรือผู้อื่นเป็นผู้ส่งทรัพย์ให้ก็ตาม (ฎ.1064/91)
-
ผู้ดูแลรับผิดชอบทรัพย์ ก็เป็นผู้ถูกหลอกได้ จึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ. 1352/44)
-
จำเลยเอาเช็คไปปลอมลายมือชื่อของผู้รับเงินสลักหลังโอนให้จำเลย แล้วนำไปหลอกลวงธนาคารให้จ่ายเงิน
เป็นการกระทำต่อธนาคาร ไม่ได้กระทำต่อผู้รับเงิน
ดังนี้ธนาคารและเจ้าหน้าที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์ ที่ถูกหลอก
เป็นผู้เสียหายฐานฉ้อโกง ส่วนผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค
ไม่ใช่ผู้เสียหายฐานฉ้อโกง แต่เป็นผู้เสียหายฐานปลอมเอกสาร (ฎ.2193/34)
-
กรณีการรับฝากเงิน ผู้รับฝากมีสิทธินำเงินที่รับฝากไปใช้ได้
เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินแก่ผู้ฝากให้ครบจำนวนเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 672)
หากมีผู้มาหลอกลวงเงินจากผู้รับฝากไป ผู้รับฝากก็ยังมีหน้าที่คืนเงินให้แก่ผู้ฝาก
ผู้ฝากจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ผู้รับฝากที่ถูกหลอกเป็นผู้เสียหาย (ฎ. 87/06 ป. )
- เรื่องบัตร
เอ.ที.เอ็ม. มี 2 กรณี คือ
1.
กรณีที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบัญชีเงินฝากในคำขอใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม
จากนั้นได้นำบัตรเอที่เอ็ม ไปถอนเงินจากธนาคาร เงินที่ได้มาเป็นเงินของธนาคาร
ไม่ใช่เงินของผู้ฝาก (ลูกค้าไม่ได้ขอออกบัตรเอทีเอ็ม)
ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
2.
กรณีจำเลยหลอกลวงเอาบัตรเอทีเอ็มที่แท้จริงจากลูกค้าของธนาคาร
แล้วนำไปถอนเงินจากตู้เบิกเงินด่วน ถือว่าเงินที่ได้เป็นเงินของลูกค้าแล้ว
ลูกค้าเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง (ฎ.671/39)
-
กรณีความเสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง
ต้องเป็นความเสียหายโดยตรงจากการหลอกลวงของผู้กระทำผิด
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการหลอกลวงของจำเลยเป็นผลให้โจทก์ถูกจำเลยฟ้องเป็นคดีแพ่ง
มิใช่ความเสียหายโดยตรงจากการหลอกลวง โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ. 1357/33)
ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกง
-
ผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยไปให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บุตรของตนเข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบ
อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย ถือว่าผู้เสียหายใช้ให้จำเลยกระทำผิด
ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย(ฎ.1960/34) (เรื่องนี้หลอกเอาเงิน
อ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงาน)
แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายให้เงินจำเลยไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้เจ้าพนักงานกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อช่วยบุตรของตนได้เข้าทำงานโดยไม่ต้องสอบ
เช่นนี้ เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย(ฎ.4744/37) (
เรื่องหลังนี้จำเลยหลอกผู้เสียหายว่าจะช่วยให้บุตรผู้เสียหายเข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบ
โดยไม่ปรากฏว่าจะนำเงินไปให้เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องกับการรับสมัครสอบ
ส่วนเรื่องแรกปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยเพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานฯ
ถือว่าวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย)
- ***
หลอกลวงให้ผู้เสียหายเอาเงินมาเข้าเล่นการพนันเพื่อโกงบุคคลอื่น
เป็นการเข้าร่วมกระทำผิดด้วย (ฎ.1813/31) หลอกลวงว่าจะขายธนบัตรปลอมให้(ฎ.711/93)
หรือทำพิธีปลุกเสกเหรียญ ร.5 แล้วหลอกลวงเอาเงินเพื่อจะพาไปซื้อหวยใต้ดินหากถูกจะแบ่งเงินกัน
(ฎ.1343/49) กรณีเหล่านี้เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย
จึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
แต่ถ้าหลอกให้ผู้เสียหายเล่นการพนันเพื่อเอาเงินจากผู้เสียหายโดยตรง
ไม่ได้หลอกให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเล่นการพนันเพื่อต้มหรือโกงบุคคลอื่นแล้ว
ผู้เสียหายมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
(ฎ.3327/32) เพราะการหลอกให้เล่นการพนันคดีนี้เป็นแผนหรือวิธีการหลอกลวง***
ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ
-
ความเสียหายฐานเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ตาม ป.อาญา มาตรา 177,
180 ส่วนได้เสียในความผิดทั้งสองฐานนี้ก็คือ “ผลแห่งการแพ้ชนะคดี”
ดังนั้นปกติแล้วผู้ที่ได้รับความเสียหายจึงน่าจะเป็นคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ได้รับความเสียหายโดยตรงนั้นเอง
หรือเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกคดี (ฎ.533/41,4804/31,1033/33)
เพราะ มาตรา 177 และ 180 มุ่งคุ้มครองเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมและคู่ความ
ให้ได้รับผลในความยุติธรรมในคดีเป็นสำคัญ ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
อย่างไรก็ตามหากการเบิกความหรือการแสดงพยานหลักฐานเท็จมีผลไปกระทบสิทธิของบุคคลภายนอก
ทำให้บุคคลภายนอกเสียหาย เช่น คู่ความในคดีเบิกความเท็จ
เป็นผลให้บุคคลภายนอกต้องสูญเสียที่ดินไป ดังนี้บุคคลภายนอกเป็นผู้เสียหายได้
(ฎ.2224/36)
-
คู่ความในคดีที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จได้
จะต้องเป็นตัวความที่แท้จริง ส่วนทนายความของตัวความไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ.17092524 ป.)
-
ผู้ที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ก็เป็นคู่ความย่อมเป็นผู้เสียหาย
ในความผิดฐานเบิกความเท็จได้ (ฎ.892/16)
-
กรณีแม้จะเป็นคู่ความในคดี แต่ก็ไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จ
หรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จได้ เช่น
การเบิกความเท็จในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
หรือในชั้นร้องขอเลื่อนคดีในชั้นไต่สวนเพื่ออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ เป็นต้น
ถือเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคู่ความฝ่ายนั้นกับศาล
ไม่เกี่ยวกับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะเป็นเท็จคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย
(ฎ. 555/14, 1050/18,297/08,2572/25)
-
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะแล้วนั้นไม่มีผลมาแต่ต้น
ดังนั้นแม้จำเลยจะเติมข้อความในสัญญาและเบิกความเท็จ
โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร และเบิกความเท็จ (ฎ. 1313/31)
-
การที่จำเลยเบิกความเท็จหรือฟ้องเท็จในคดีอาญา แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ก็เป็นผู้เสียหาย (ฎ.3963/43)
ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ
-
แม้ความผิดฐานแจ้งความเท็จจะเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน
แต่ราษฎรก็อาจเป็นผู้เสียหายได้ ถ้าได้รับความเสียโดยตรง เช่น
ข้อความเท็จนั้นมีผลทำให้ราษฎรต้องถูกดำเนินคดีอาญา (ฎ.2415/35,2625/36)
- **
จำเลยเสนอหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 231 อันเป็นเท็จ
โดยแจ้งหลักประกันมีราคาสูงเกินจริง
ทำให้ศาลหลงเชื่อจึงรับไว้เป็นหลักประกันและอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ
ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับคดีได้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา
ถือว่าโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จแล้ว (ฎ. 2221/15)
ข้อสังเกต
หลักประกันในการขอทุเลาการบังคับนี้ ภายหลังหากโจทก์ชนะคดี
โจทก์ก็มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีกับหลักประกันดังกล่าวเพื่อเอาชำระหนี้ได้
ถ้าหลักประกันไม่มีมูลค่าโจทก์ก็ไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้
โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดฐานแจ้งความเท็จ
-
จำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่มิได้เจาะจงถึงโจทก์โดยตรง
โจทก์มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (ฎ.2989/31)
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า ม.บุกรุกที่ดิน
แต่ข้อเท็จจริงที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องฟ้องขับไล่จำเลย
ทำให้โจทก์เสียหาย ศาลวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายฐานแจ้งความเท็จ คือ ม. ไม่ใช่โจทก์
หรือ กรณีการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แม้จะไม่ได้เจาะจงถึงผู้ใด
แต่มีผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เช่นสูญเสียที่ดินไป
ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรง เป็นผู้เสียหายฐานแจ้งความเท็จ (ฎ. 3554/31)
-
ผู้กู้มอบสมุดเงินฝาก และ เอทีเอ็ม ให้แก่ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้
แล้วผู้กู้ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าสมุดเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มหายไป
เพื่อนำไปเป็นหลักฐานแสดงต่อธนาคารให้ออกสมุดเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มให้ใหม่
ถือว่าเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงถึงผู้ให้กู้
ผู้ให้กู้ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (ฎ.6858/41)
-
เจ้าหนี้ยึดถือหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินไว้เป็นประกันหนี้
การที่ลูกหนี้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานว่าหนังสือสำคัญ สูญหายไป
เพื่อขอออกใบแทนเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงถึงเจ้าหนี้
เจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (ฎ.1261/17 ป.)
-
ขายที่ดินไปแต่กลับไปแจ้งว่า น.ส. 3 หรือ ส.ค.1 หายไป เพื่อนำออกใบแทน
ทำให้ผู้ที่ซื้อที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้รับความเสียหาย
เจ้าของที่ดินเป็นผู้เสียหาย (ฎ.1955/46)
-
ผู้ขายนำชี้ที่ดินที่รุกล้ำเข้าไปในที่สาธารณะเพื่อนำไปขายเพิ่มให้ผู้จะซื้อ
ผู้จะซื้อที่ดินไม่ได้รับความเสียหาย เพราะมีสิทธิปฎิเสธไม่รับส่วนที่เพิ่มนั้นได้
(ฎ.5138/37)
-
กรณีพยานในคดีอาญา ไม่มาเบิกความต่อศาลตามนัดโดยอ้างว่าป่วยซึ่งเป็นเท็จนั้น
คู่ความในคดีไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในความผิดฐานแจ้งความเท็จของพยาน (ฎ.1753/20)
-
ชายจดทะเบียนสมรสซ้อน แจ้งต่อนายทะเบียนว่ายังไม่เคยสมรสมาก่อน
ดังนี้ทั้งภริยาใหม่ และภริยาเดิม
เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ(ฎ.5052/30, 2583/22)
ผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอก
ได้แก่
เจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ขณะที่ถูกยักยอก (ฎ.5097/31,1554-5/12)
และ ฎ. 2386/41 เรื่องสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด
มีผู้ครองครองดูแลทรัพย์(เงินสดของสำนักสงฆ์ฯ) หลายคนร่วมกัน
บุคคลเหล่านั้นจึงมีความรับผิดทางแพ่งร่วมกัน
ดังนั้นการที่ผู้ดูแลรักษาเงินคนหนึ่งยักยอกเงินไป ถือว่าผู้ดูแลรักษาเงินคนอื่น(ทุกๆคน)
เป็นผู้เสียหายได้ ***
- ในคดีแพ่ง
ศาลสั่งคุ้มครองประโยชน์โดยให้จำเลยเก็บเงินค่าเช่าทรัพย์มาวางศาล
ถือว่าเงินที่จำเลยต้องเก็บมายังไม่เป็นเงินของโจทก์
การที่จำเลยไม่นำเงินมาวางศาลแล้วนำไปเป็นประโยชน์ของตน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย
(ฎ.171/44)
- การชำระหนี้ให้แก่ทนายความของโจทก์
โดยโจทก์ไม่ได้มอบหมายให้ไปรับเงินดังกล่าว เงินดังกล่าวจึงยังไม่ตกเป็นของโจทก์
เมื่อทนายความยักยอกเงินนั้น โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.815/35 ป.)
แต่ถ้าทนายความได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้รับเงินที่ชำระแทนได้
เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโจทก์แล้วในฐานะตัวการ เมื่อทนายความเบียดบังไป
โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายฐานยักยอก (ฎ.33/32)
-
ตัวแทนหรือลูกจ้างรับเงินหรือสิ่งของจากบุคคลภายนอกไว้แทนตัวการ หรือนายจ้าง
สิทธิในเงินหรือสิ่งของนั้นย่อมตกเป็นของตัวการหรือนายจ้างทันที
การที่ตัวแทนหรือลูกจ้างยักยอกเงินหรือสิ่งของนั้น ตัวการหรือนายจ้าง
เป็นผู้เสียหาย ส่วนผู้ชำระเงินหรือสิ่งของ ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.2250/44, 4/33, 556/41)
-
ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์มรดก
จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก (ฎ.47/19 ป.)
-
ยักยอกทรัพย์สินองบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นิติบุคคลหรือ
ห้างหุ้นส่วนเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หุ้นส่วนผู้จัดการไม่ใช่ผู้เสียหาย
ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในนามของตนเอง(ฎ.5008/37) และผู้ถือหุ้น
หรือหุ้นส่วนไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ. 6328/30) แต่ถ้าผู้จัดการ กรรมการ
หรือผู้แทนของนิติบุคคลยักยอกทรัพย์ของนิติบุคคล ศาลวินิจฉัยว่าผู้ถือหุ้น
หรือหุ้นส่วนเป็นผู้เสียหายได้ (ฎ.1250/21 ป.)
-
เมื่อเจ้าของทรัพย์สินตาย ทรัพย์สินเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
ทายาทย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายได้
แม้จะยังไม่ได้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกยักยอกก็ตาม(ฎ.1938/94)
ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์
ทำให้เสียทรัพย์ รับของโจร และบุกรุก
การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
ฐานทำให้เสียทรัพย์ รับของโจร และฐานบุกรุก เป็นการกระทำที่กระทบต่อกรรมสิทธิ์
และสิทธิครอบครอง ดังนี้ เจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์
เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าวได้ เช่น
ผู้รับจ้างขนส่งเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ที่ขนส่ง
เป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการที่ทรัพย์สินที่ขนส่งสูญหาย (ฎ. 12578/47, 5980-1/39) และ ฎ .
1548/35,634/36 ซึ่งวินิจฉัยว่าผู้ครอบครองทรัพย์ เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์
ทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุก ได้
-
ผู้เช่าก็เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่เช่า เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุก (ฎ.
1355/04) แต่ถ้าคืนทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้ให้เช่าแล้ว ผู้เช่าก็ไม่เป็นผู้เสียหาย
(ฎ. 1417/22) ถ้าผู้เช่ายังไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนแก่ผู้ให้เช่า
แม้ศาลจะพิพากษาให้ขับไล่ผู้เช่าแล้ว
ก็ยังถือว่าผู้เช่าเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ที่เช่าอยู่
ผู้เช่าจึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ. 363/1
-
ผู้อาศัยผู้เช่าอีกทอดหนึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ. 993/99)
-
ผู้ครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช่ร่วมกัน
ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานบุกรุก (ฎ. 928/20 ป.,172/35)
ข้อสังเกต
แม้ผู้ครอบครองสาธรณสมบัติของแผ่นดินจะไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุก
แต่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้ต้นไม้ที่ตนปลูกไว้ในที่สาธารณะดังกล่าวเสียหาย
ได้ (ฎ. 5310/30)
ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
-
ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ได้แก่ เจ้าของทรัพย์
และผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ และ
ผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์นั้นด้วย
ถ้าเพียงแต่เจ้าของอนุญาตให้เข้าพักอาศัย
โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยตรงให้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้น
ผู้ที่พักอาศัยไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เช่น
ลูกจ้างของบริษัทที่เข้าพักอาศัยอยู่ในหอพักคนงานของบริษัท
มีเพียงสิทธิอาศัยเท่านั้น บริษัทมิได้มอบหมายให้ดูแลรักษาทรัพย์โดยตรง
เมื่อมีผู้มาทำลายหอพักฯ บริษัทฯเท่านั้น เป็นผู้เสียหาย (ฎ.352/41)
-โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน
แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์และเต็นท์ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินนั้น
จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้รถยนต์และเต็นท์เสียหาย (ฎ. 7477/41)
-
ในเรื่องทางภารจำยอม เจ้าของสามยทรัพย์(เจ้าของที่ดินที่มีสิทธิใช้ทางภารจำยอม)
ไม่ใช่เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองภารยทรัพย์
จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำให้ภารยทรัพย์นั้นเสียหาย (ฎ. 1828/23)
ผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเอกสาร
ความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสาร
จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะ “ข้อความแห่งเอกสารนั้น”
(ฎ. 3732/25)
-
ความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมลายมือชื่อของผู้อื่น
ถือว่าผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อได้รับความเสียหายโดยตรง จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร
ส่วนความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
ผู้ที่ได้รับความเสียหายน่าจะได้แก่ผู้ที่ถูกจำเลยนำเอกสารปลอมไปใช้หรือไปแสดงต่อผู้นั้น
นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้อื่นที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เอกสารนั้นด้วย (ฎ.
5689/44, 3252/45,7001/44)
-
จำเลยใช้บัตรเครดิตปลอม เป็นเหตุให้ธนาคารตามบัตรเครดิตต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าผู้รับบัตรเครดิตปลอม
ถือว่าธนาคารตามบัตรเครดิตเป็นผู้เสียหาย ในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม (ฎ. 7001/44)
ร้านค้าไม่ใช่ผู้เสียหาย
-
มีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
และฐานฉ้อโกง เพราะเงินเป็นของธนาคาร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 วรรคสอง (ฎ. 1462-3/23)
เรื่องนี้เมื่อมีการนำเช็คปลอมมาเบิกเงินจากธนาคาร ธนาคารจ่ายเงินให้ไป
ถือว่าเป็นความผิดของธนาคารเอง ธนาคารหักบัญชีของลูกค้าเจ้าของบัญชีไม่ได้ ธนาคารจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง
อย่างไรก็ตามสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสาร
ลูกค้าเจ้าของเช็คที่ถูกปลอมลายมือชื่อเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ได้
-
ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี
ไม่เป็นผู้เสียหายในกรณีที่จำเลยปลอมหรือใช้เอกสารปลอมเป็นพยานหลักฐานในคดีนั้น
(ฏ. 3561/25)
ผู้เสียหายในความผิดฐาน
เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยทั่วไปความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
เป็นความเสียหายที่กระทำต่อรัฐ รัฐจึงเป็นผู้เสียหาย ราษฎร ไม่ใช่ผู้เสียหาย ( ฎ.
3042/37, 3437/27) อย่างไรก็ตามความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม
ป.อ. มาตรา 157 ราษฎรก็อาจเป็นผู้เสียหายได้ เช่น
การที่เจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยผู้กระทำความผิดอาญา
ผู้เสียหายในความผิดอาญาฐานนั้น
ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ (ฎ.
4881/41, 2294/17)
-
เจ้าพนักงานตำรวจจดคำพยานเป็นเท็จ เพื่อช่วยผู้กระทำความผิดมิให้รับโทษ
หรือรับโทษน้อยลง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ผู้เสียหายหรือผู้จัดการแทนผู้เสียหาย
ในความผิดอาญาที่มีการสอบสวนเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้
(ฎ. 2294/17)
- ผู้ใหญ่บ้านละเว้นไม่จับกุมผู้ฉุดคร่าโจทก์
โดยเจตนาช่วยไม่ให้ผู้ทำผิดต้องรับโทษทางอาญา
โจทก์ได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องในความผิดตามมารา 157 (ฎ. 611/97)
เรื่องนี้โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับที่ถูกฉุดคร่า
ซึ่งเป็นความผิดอาญาหลัก การที่ผู้ใหญ่บ้านละเว้นไม่จับกุมผู้ฉุดคร่าจึงถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
แต่ถ้าโจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดอาญาหลัก
การที่พนักงานละเว้นไม่จับกุมผู้กรทำผิด โจทก์ก็ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดตาม
ป.อ. มาตรา 157
สรุปว่า
การที่ประชาชนจะเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.อ.มาตรา 157
ประชาชนจะต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาเรื่องนั้นๆด้วย ดังนั้น
เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุกที่สาธารณะ
การที่จำเลยละเว้นไม่จับกุมผู้บุกรุก โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม
ป.อ.มาตรา 157 (ฎ. 3035/23)
ผู้เสียหายในความผิดตาม
พ.ร.บ. เช็ค ฯ
ความผิดตาม พ.ร.บ.
เช็คฯ เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้เสียหายในความผิดฐานนี้
จึงมีได้เฉพาะ “ผู้ทรงเช็ค” ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งเท่านั้น
(ฎ.1035/29) ผู้รับโอนเช็คหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ไม่ใช่ผู้เสียหาย แม้จะเป็นเช็คผู้ถือซึ่งโอนได้โดยการส่งมอบก็ตาม
(ฎ. 5407/46,1891/24)
-
แม้ผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ตามเช็คจากผู้ทรงคนก่อนแล้วก็ตาม
ก็ยังเป็นผู้เสียหายอยู่ (ฎ.2353/23)
-
ถ้าผู้ทรงเช็คมิได้โอนเช็คให้ผู้อื่น แต่นำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่น
หรือให้ผู้อื่นนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแทน
ถือว่าผู้ที่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเป็นตัวแทนเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เสียหาย
และถือว่าผู้ที่มอบเช็ค เป็นผู้ทรงขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
จึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ. 1084/42 , 2722/27, 349/43)
-กรณีผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตาย
ก่อนธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (ก่อนความผิดเกิด)
สิทธิในเช็คย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ถือว่าทายาทเป็นผู้ทรง
เมื่อต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ทายาทจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม
พ.ร.บ.เช็คฯ (ฎ. 3619/43)
ข้อสังเกต
สิทธิในการดำเนินคดีอาญาไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ซึ่งต้องเป็นกรณีที่ความผิดนั้นเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายยังมีชีวิตอยู่
(ฎ. 578/15, 3395/25) แต่ ฏ. 3619/43 เมื่อ ป. ตาย
สิ่งที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์คือ ความเป็นผู้ทรงเช็ค
ไม่ใช่สิทธิในการดำเนินคดีอาญา เพราะขณะที่ ป. ถึงแก่ความตาย ความผิดยังไม่เกิด
สิทธิในการดำเนินคดีอาญาจึงยังไม่มี เนื่องจากธนาคารยังไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน
เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในขณะที่โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทซึ่งเป็นผู้ทรงเช็ค
โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรง
-
ฐานะของการเป็นผู้ทรงเช็ค เป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่ใช่ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
สามีของผู้ทรงเช็คในขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ. 2752/31)
-
จำเลยออกเช็คหลายฉบับเพื่อชำระหนี้ในมูลหนี้จำนวนเดียวกัน
ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ เมื่อจำเลยถูกฟ้องตามเช็คฉบับหนึ่งไปแล้ว
โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามเช็คฉบับหลังอีก (ฎ. 3254/26, 3822/29)
-
รับโอนเช็คมาเพื่อฟ้องคดีอาญาถือว่าไม่สุจริต ไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ. 3413/2
-
เช็คที่มีมูลหนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ ผู้รับเช็คไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
(ฏ. 3413/2 เช่น
เช็คที่ฟ้องเป็นเช็คที่ผู้เสียหายคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมเข้าไปไว้ด้วย
ถือว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ และไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.
3047/31)
ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาท
-
การหมิ่นประมาทบุคคลหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มบุคคลโดยไม่เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใด
หรือจากถ้อยคำที่หมิ่นประมาทไม่อาจทราบว่าเป็นผู้ใด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนั้นคนใดคนหนึ่งไม่เป็นผู้เสียหาย
(ฎ. 1325/98, 3954/39)
-
แต่ถ้าเป็นการหมิ่นประมาททุกคนที่อยู่ในกลุ่มบุคคลนั้นคนใดคนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย
(ฎ.448/89,295/ 05 )
ความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย
เอกชนไม่อาจเป็นผู้เสียหาย
ได้แก่ ความผิด ตาม
พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ (ฎ. 648/37, 2096/30) ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
ความผิดตาม ป.อ. 147 , 158 , 170, 199 , ความผิดตาม
พ.ร.ก.การกู้เงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ,ความผิดตาม
พ.ร.บ.ศุลกากรฯ , ความผิดตาม พ.ร.บ.อาหารฯ และ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ
ผู้เสียหายโดยนิตินัย
ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา
“ ผู้เสียหายโดยนิตินัย”
หมายถึง ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หรือไม่เป็นผู้ใช้
ผู้สนับสนุน หรือรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น และไม่ได้สมัครใจให้เกิดความผิดนั้น
(ฎ. 4461/39, 7128/47, 1167/30, 3100/47)
-
การแสวงหาพยานหลักฐานโดยการล่อซื้อ หากปรากฏว่า
มิได้เป็นการก่อให้จำเลยกระทำความผิด เพราะจำเลยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดอยู่แล้ว
ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ. 6523/45)
แต่ถ้าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่า
จำเลยมีเจตนากระทำความผิดอยู่แล้วจึงให้คนไปล่อซื้อ จึงเท่ากับผู้เสียหายมีส่วนก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดขึ้นเอง
ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 4085/45)
- ***
หากผู้ที่มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยถึงแก่ความตาย ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี
ภริยา จะจัดการแทนตามมาตรา 5(2) ไม่ได้
-
การที่ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ตาม
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (ฎ. 1281/03)
-
แต่ถ้าผู้กู้ฟ้องผู้ให้กู้ในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งผู้กู้มิได้มีส่วนร่วมกระทำผิดด้วย
ผู้กู้เป็นผู้เสียหายได้ (ฎ. 6869/41)
ข้อสังเกต
กรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่มีอำนาจกระทำการได้เช่น
ร้องทุกข์ ฟ้อง ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ อุทธรณ์ฎีกา ถอนคำร้องทุกข์
ถอนฟ้อง ยอมความเพื่อยุติคดีความผิดต่อส่วนตัว เป็นต้น
การดำเนินกระบวนพิจารณาเหล่านี้
ผู้ที่มีอำนาจดำเนินการนั้นได้ต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้น บุคคลอื่นที่มิได้มีฐานะเป็นผู้เสียหาย
ย่อมไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ และผู้เสียหายที่จะมีอำนาจนั้นจะต้องเป็นผู้เสียหาย
ตามมาตรา 2(4) ด้วย ( ธานิศ เกศวพิทักษ์ คำอธิบาย ป.วิอาญา เล่ม 1 ( พิมพ์ครั้งที่
5 พ.ศ. 2551) หน้า 5 )
คำร้องทุกข์ (
มาตรา 2(7))
คำร้องทุกข์
คือการที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม
ซึ่งการกระทำความผิดนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย
โดยมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
คำร้องทุกข์มีความสำคัญ
ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดอันยอมความได้
ในปัญหาอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน และอำนาจของพนักงานอัยการ
กล่าวคือพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดอันยอมความได้ต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบก่อน
ถ้าไม่มีคำร้องทุกข์ หรือเป็นคำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาสอบสวน
ทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ผู้เสียหายต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
-
การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อกันคดีขาดอายุความ หรือแจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาจะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
ไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตามมาตรา 2(7) (ฎ. 228/44, 391/27)
-
การร้องทุกข์ในความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ถ้าผู้เสียหายแจ้งว่า
ต้องการรับเช็คของกลางไปเพื่อดำเนินการฟ้องจำเลยอีกทางหนึ่งก่อน
โดยไม่ขอมอบคดีต่อพนักงานสอบสวน
ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาให้ผู้ออกเช็คต้องรับโทษ ไม่เป็นคำร้องทุกข์ (ฎ.
4714/33, 314/29)
-
แต่ถ้าผู้เสียหายร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ออกเช็ค
และในขณะเดียวกันก็ขอรับเช็คคืนไปทวงถามเอากับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง (
โดยคำร้องทุกข์ไม่มีข้อความระบุว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ)
ถือว่าผู้เสียหายมอบคดีให้พนักงานสอบสวนแล้ว
และถือว่าผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษแล้ว
จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย (ฎ. 1209/31 ป.)
-
ในกรณีที่มีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคน
แต่ผู้เสียหายร้องทุกข์โดยระบุชื่อเพียงบางคนเท่านั้น
ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาจะให้ผู้ที่ไม่ได้ระบุชื่อให้ต้องรับโทษด้วย
จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์สำหรับผู้ที่ไม่ระบุชื่อ (ฎ. 3343/36, 122/2
-
แต่ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย
เจ้าพนักงานก็มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้
ดังนั้นแม้ผู้เสียหายจะระบุชื่อให้ดำเนินคดีแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เจ้าพนักงานตำรวจก็มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้อื่นได้ (ฎ. 4080/40)
-
เจตนาเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษนั้น
คงพิจารณาเฉพาะขณะผู้เสียหายร้องทุกข์ว่าผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหรือไม่
ถ้ามีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษแล้ว แม้ต่อมาในชั้นพิจารณาของศาล
ผู้เสียหายกลับมาเบิกความต่อศาลว่าไม่มีเจตนาให้เอาโทษจำเลย ดังนี้
ไม่ทำให้คำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายเสียไป (ฎ.186/03, 3091/23)
-
เมื่อได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้จะมีการผ่อนผันให้จำเลยบ้าง
ก็เป็นเพียงรอการดำเนินคดีไว้เท่านั้น ไม่ทำให้คำร้องทุกข์เสียไป (ฎ. 3093/23)
-
การร้องทุกข์ไม่จำเป็นต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าเป็นการร้องทุกข์
การที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะผู้เสียหาย
การให้การดังกล่าวก็เพื่อเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
จึงถือว่าคำให้การของผู้เสียหายเป็นคำร้องทุกข์โดยชอบได้ (ฎ. 2100/14)
-
การร้องทุกข์อาจมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทนได้
ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล
หนังสือมอบอำนาจต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นด้วย
มิฉะนั้นไม่ถือว่านิติบุคคลนั้นได้ร้องทุกข์แล้ว (ฎ. 1590/30)
ถ้ามีการมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แทน
ต้องระบุในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยด้วย (ฎ. 228/44)
-
หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดร้องทุกข์ แต่ไม่มีข้อความระบุว่าทำให้ห้างฯ
ได้รับความเสียหายด้วย ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์แทนห้างฯ เมื่อห้างฯ
เป็นโจทก์ฟ้องคดีเกิน 3 เดือน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ (ฎ. 4070/40)
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
( มาตรา 5)
ตามมาตรา 5(1)
เอกสารฉบับนี้ข้าพเจ้า
นายผี ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการศึกษา เตรียมตัวสอบสนามต่างๆ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน
คือ ภาคแรก มาตรา 2- 156 ส่วนที่สอง มาตรา 157-254
หากผิดพลาดหรือบกพร่องประการใดในการจัดทำ ข้าพเจ้านายผี
ขอประทานอภัยจากท่านผู้เสพทุกท่านด้วย.... ผมpoppo ขอขอบพระคุณ
นายผี มากๆที่เผยแพร่ขอมาลงต่อในบล้อคครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น